ดนตรีบำบัดศาสตร์ทางการแพทย์ที่โลกยุคนี้ต้องการ

ปัจจุบันนี้ชีวิตของมนุษย์เรามีแง่มุมในชีวิตที่หลากหลายกว่าในอดีตมาก บางคนมีตัวตนที่อยู่ร่วมกับสังคมอีกแบบหนึ่งแต่เมื่ออยู่เพียงลำพังอาจจะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอภายในใจของเขาอาจจะเศร้าหรือว้าเหว่อยู่ด้วย การได้สัมผัสกับข่าวสารด้านลบ การพูดจาไม่ดีต่อกันในครอบครัวหรือการถูกบูลลี่จากสังคมในรูปแบบต่างๆ ทำให้คนสมัยนี้ป่วยเป็นโรคทางใจและโรคทางจิตจำนวนมาก ซึ่งบางโรคไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางโรคอาจต้องใช้เวลาหลายปี นอกจากการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์แล้วทุกวันนี้ยังมีทางออกในการบำบัดอีกหลายรูปแบบ หนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจและสิ้นเปลืองน้อยกว่าวิธีการอื่นๆ คือ “ดนตรีบำบัด”

ดนตรีบำบัดเป็นวิธีการที่ถูกพูดถึงมานานมากแต่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคทางจิตอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เนื่องด้วยผู้ป่วยโรคทางจิตมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมากแถมมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยผลของการใช้ดนตรีบำบัดจะช่วยให้ผู้ฟังลดอุปนิสัยอันรุนแรงก้าวร้าว ชักจูงให้ผู้ฟังจดจ่อสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้นและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆได้ ข้อดีเหล่านี้ทำให้เสียงดนตรีเหมาะที่จะใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงกับตัวเองและผู้อื่น บำบัดผู้ป่วยที่สร้างภาพในจินตนาการให้อยู่บนความเป็นจริงรวมทั้งลดความเครียดจากอาการบาดเจ็บทางร่างกายที่อาจทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการทางจิตมากกว่าเดิม และแนวดนตรีที่ช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ก็มีดังต่อไปนี้

ดนตรีจังหวะเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงแด๊นซ์ เพลงร็อค เร้กเก้ จังหวะดนตรีของเพลงเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกสดชื่น สนุกสนานขึ้นได้ แต่ไม่ควรใช้เพลงเร็วที่มีเนื้อหารุนแรงหรือเพลงที่มีประโยคในเชิงตำหนิตนเองมองเห็นตนเองไม่มีคุณค่า

ดนตรีเบาๆ ดนตรีประเภทไลท์มิวสิคเช่น ดนตรีคลาสสิค ดนตรีบรรเลง เพลงโซลสามารถใช้บำบัดความรุนแรง ความก้าวร้าวของผู้ป่วยได้และไม่เพียงได้ผลกับผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังมีผลกับคนทั่วไปที่มีพฤติกรรมในเชิงก้าวร้าวได้ทุกช่วยวัย นอกจากการลดพฤติกรรมก้าวร้าวเพลงเบาๆ เหล่านี้ยังช่วยให้มีสมาธิจึงใช้กับผู้ป่วยสมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ ที่อาการไม่หนักมากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ระบุว่าบทเพลงต่างๆ ไม่ได้แสดงผลตายตัวเสมอไป บางครั้งอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยบางคน บางเพลงกลับมีผลกับผู้ป่วยแบบตรงกันข้ามเช่น ผู้ป่วยสมาธิสั้นบางคนฟังเพลงจังหวะเร็วอาจทำให้เกิดสมาธิจดจ่อขึ้นมาได้เช่นกัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ดูแลอาจต้องปรึกษาแพทย์ในการสรรหาบทเพลงมาทดสอบและควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยเมื่อมีการใช้ดนตรีแต่ละแบบในการบำบัด อีกเรื่องที่ควรคำนึงคือต้องให้ผู้ป่วยยินยอมพร้อมใจในการบำบัดด้วยเพราะหากผู้ป่วยถูกบังคับฝืนใจนอกจากอาการจะไม่ดีขึ้นแล้วยังมีแนวโน้มจะแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย