เพลงละครต้นยุครัตนโกสินทร์ ความเป็นไทยที่ผสมผสานความศิวิไลย์อย่างลงตัว

มีนวนิยายหลายเล่ม จากปลายปากกาของนักเขียนชื่อดังหลายท่านที่สรรค์สร้างผลงานโดยจำลองการใช้ชีวิตของผู้คนในต้นยุครัตนโกสินทร์ออกมาได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยข้อมูลจากหลากหลายที่ทำให้นวนิยายออกมาใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด โดยนวนิยายเหล่านั้นได้ถูกนำมาสร้างทั้งเป็นละครและละครเวที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี่แผ่นดิน นางทาส หรือรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี บทเพลงที่ใช้ประกอบในละครนั้นต่างก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถบ่งบอกได้ถึงการเป็นอยู่และเครื่องดนตรีหลักที่ใช้บรรเลงในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นทำนองที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของชาวไทยได้อย่างละเมียดละไมเลยก็ว่าได้

“มยุราภิรมย์” เป็นอีกหนึ่งเพลงบรรเลงจากละครชื่อดังเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่ได้รับความนิยมทางจอโทรทัศน์เป็นอย่างมาก ซึ่งในเรื่องได้ใช้เพลงนี้ประกอบหลายฉาก แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความศิวิไลย์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดท่ามกลางสมัยรัชกาลที่ 5 หรือสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง โดยในตัวเพลงเราจะได้ยินเสียงของไวโอลิน เชลโล่ชัดเจน ผสมผสานกับเสียงตีฉิ่งและเสียงซอ ที่ทำให้เพลงมีความเป็นสากลปนความเป็นไทยอย่างพอดี คล้ายกับสมัยของรัชกาลที่ 5 เราที่ไทยกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศ ซึ่งรับวัฒนธรรมมาจากชาติตะวันตก

“รัตนโกสินทร์” เพลงประกอบละครเรื่อง “รัตนโกสินทร์” เวอร์ชั่นปีพ.ศ. 2539 เพลงเปิดละครที่เขียนความหมายโดยย่อของเกาะ รัตนโกสินทร์ ไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นผู้คน ประเพณี หรือการเป็นอยู่ ที่สะท้อนออกมาในตัวเพลง ซึ่งในบทละครถือเป็นสมัยของรัชกาลที่ 3 เข้ารัชกาลที่ 4 ที่คนจีนนั่งเรือสำเภาเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ดนตรีที่ใช้ประกอบในเพลงจึงมีทั้งไทยและสากล ซึ่งแทนความเป็นจีนโดยใช้เสียงขิม ที่ลักษณะเสียงคล้ายกู่เจิ้ง และมีความไทยผสมคือเสียงของขลุ่ย 

และเพลงสุดท้ายอย่าง “ทวิภพ” ที่ประกอบละครชื่อดังเช่นกัน โดยเป็นทวิภาพเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ในปีพ.ศ. 2537 นำแสดงโดยสิเรียมและศรัณยู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งละครและหนึ่งบทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในยุคสมัยนั้น ตัวเรื่องกล่าวถึงการข้ามเวลาไปยังยุคสมัยรัชกาล 5 ยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศมากมาย จึงส่งผ่านเพลงประกอบมาด้วย เรียกได้ว่าตัวนวนิยายก็ได้รับการถ่ายทอดอย่างพิถีพิถันแล้ว เพลงประกอบก็ยังพลอยพิถีพิถันไปด้วย

ต้นยุครัตนโกสินทร์เป็นยุคที่มีเสน่ห์ เพราะประเทศไทยได้รับการพัฒนาไปอย่างก้าวไกล มีการเปิดรับความหลากหลายมาจากชนต่างชาตินานาประการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม หรือแม้แต่สถาปัตยกรรม และสิ่งเหล่านี้เองล้วนสะท้อนออกมาผ่านเสียงเพลงและบทประพันธ์อันทรงคุณค่า ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยังก็มิอาจจะทำลายล้างความสวยงามและความศิวิไลย์เหล่านี้ได้เลย