รู้หรือไม่การฟังเพลงเหล่านี้มีผลต่อการขับขี่รถยนต์?

การฟังเพลงขณะขับรถถือเป็นกิจกรรมที่ทุกคนทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นทั้งเพื่อนคลายเหงา เป็นตัวช่วยให้ไม่ง่วงเมื่อต้องขับขี่นานๆ หรือแม้แต่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์จากการจราจรที่ชวนให้หงุดหงิดใจ ทว่า…การฟังเพลงขณะขับขี่รถยนต์มีประโยชน์ก็จริงแต่เพลงบางประเภทกลับทำให้สมรรถภาพในการขับขี่และการตัดสินใจลดลงได้เหมือนกันและคงต้องขัดใจหลายๆคนเป็นแน่หากบอกว่าเพลงที่มีดนตรีหนักหน่วงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการฟังขณะขับขี่รถยนต์

นิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์ Auto Express และองค์กร IAM Roadsmart ร่วมมือกันทำการวิจัยโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ การวิจัยนี้มีการทดสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยวดยานที่ร่างกายและสมาธิตอบสนองต่อจังหวะของบทเพลงแต่ละแนว โดยให้ผู้รับการทดสอบฟังเพลงแนวต่างๆ ดังนี้

เพลง sic ศิลปิน Slipknot

เพลง Shake It Off ศิลปิน Taylor Swift

เพลง HUMBLE ศิลปิน Kendrick Lamar

ดนตรีบรรเลง Goldberg Variations ประพันธ์โดย Sebastian Bach

ผู้ทดสอบคือนักข่าวด้านยานยนต์ผู้รอบรู้เรื่องรถยนต์เป็นอย่างดี Tristan Shale-Hester โดยสถานที่ทดสอบคือสนามแข่ง Red Bull Ring Grand Prix ในประเทศออสเตรีย ผู้ขับขี่จะทำการทดสอบด้วยการขับวนในสนามสองรอบขณะเดียวกันก็เปิดเพลงแต่ละเพลงให้ดังที่สุดเพื่อทดสอบสมาธิในการขับขี่และผลกระทบจากการรับฟังเพลงแนวนั้นๆ ด้วย ผลการทดสอบปรากฏว่าขณะฟังเพลงเฮฟวี่เมทัลของ Slipknot ผู้ขับขี่ควบคุมรถไม่ดีเลย ขับขี่หวาดเสียวแถมทำเวลาได้ช้ากว่าที่กำหนดถึง ส่วนการฟังดนตรีบรรเลง Goldberg Variations ผู้ขับขี่ใจลอย ผ่อนคลายเกินไปจนไม่ระมัดระวังด้านความปลอดภัย ในขณะที่เพลง HUMBLE ซึ่งเป็นจังหวะอาร์แอนด์บีผสมฮิปฮอปผู้ขับขี่ใจเย็นและทำเวลาได้แย่ที่สุด แต่กับเพลง Shake It Off เพลงป็อปของสาวน้อยมหัศจรรย์ Taylor Swift ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีสมาธิ ขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ปลอดภัยและนุ่มนวล ทั้งยังทำเวลาได้ตามกำหนดอีกด้วย ภายหลังการทดสอบ Tim Shallcross ฝ่ายเทคนิคขององค์กร IAM Roadsmart กล่าวว่า “เห็นได้ชัดเจนเลยว่าจังหวะหนักหน่วงของเพลงแนวแทรชเมทัลนั้นทำให้ผู้ทดสอบมีความสามารถในการเข้าโค้งลดลง” ทิมยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “เหตุผลเป็นเพราะว่าเพลงเหล่านั้น(เพลงร็อคจังหวะเร็ว)รวมถึงเพลงแดนซ์นั้นมีจุดประสงค์ในการแต่งขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่ใช่เพียงแต่เอาไว้ฟังอย่างเดียว นั่นจึงไม่แปลกเลยที่มันจะรบกวนการตัดสินใจของผู้ขับขี่”

ขยายความจากคำพูดของทีมก็คือเพลงร็อคจังหวะเร็ว เพลงเฮฟวี่เมทัล และเพลงแด๊นซ์นั้นทำให้ร่างกายของคนเรามีปฏิกิริยาตอบสนอง มีความรู้สึกอยากขยับร่างกายตามจังหวะของเพลงโดยอัตโนมัติเพลงเหล่านี้ไม่ใช่แค่ใช้สำหรับการฟังเพียงอย่างเดียวเพราะจุดประสงค์ในการแต่งขึ้นมาก็เพื่อให้คนลุกขึ้นมาเต้นหรือโยกหัวตามและแน่นอนว่าการถูกรบกวนโดยบทเพลงเหล่านี้ในขณะที่มือยังจับพวงมาลัยอยู่นั้นทำให้การขับขี่รถยนต์มีประสิทธิภาพลดลงนั่นเอง